Readspread.com

News and Article

UAE ลงทุนเรื่องปากท้องของคนในประเทศอย่างไร

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี มีการลงทุนและสนับสนุนประชากรให้อยู่ดีมีสุขด้วยวิธีไหน
UAE

เรื่องปากท้องของผู้คนในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายอย่าง สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ที่ลงทุนและสนับสนุนให้ประชากรในประเทศมีอาหารรับประทานอย่างเพียงพอ แม้ว่าชาวยูเออีจะมีพฤติกรรมในการบริโภคของกินเล่นและขนมหวานจำนวนมากก็ตาม ซึ่งนอกจากการค้นหาแหล่งผลิตอาหารจากภายนอก แล้ว รัฐบาลยูเออีเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีเพื่อเพาะปลูกพืชในประเทศซึ่งพื้นที่เป็นทะเลทราย ให้สามารถปรับตัวได้ในสภาพภูมิอากาศร้อน รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วย

แต่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ก็ทำให้สถานการณ์ทางอาหารของยูเออีสั่นคลอนอยู่ไม่น้อย รัฐบาลจึงได้สร้างมาตรการรับมือกับความท้าทายความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอต่อประชากรในประเทศท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 โดย นายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ ได้สรุปออกเป็น 4 ด้านเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ได้แก่

Circular green irrigation patches for agriculture in the desert. Dubai, UAE.

ลงทุนธุรกิจการเกษตร
เมื่อเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา ประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนในระดับสูงดังเช่นกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) จึงได้แสวงหาที่ดินทั้งแบบเช่าระยะยาวหรือการซื้อเพื่อเพาะปลูกพืชอาหารในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

จากรายงานของ Global Agricultural Information Network 2019 ระบุว่ายูเออีมีการลงทุนด้านการเกษตรในต่างประเทศเพื่อผลิตอาหารสำหรับตลาดยูเออีโดยเฉพาะ อาทิ บริษัท Saudi Arabia Agricultural and Livestock Company (SALIC) ของซาอุดิอาระเบีย และ Al-Dahra ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ บริษัท Al-Dahra ยังได้ซื้อบริษัท Agricost Braila ซึ่งเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรใหญ่ที่สุดในโรมาเนีย ซึ่งมีฟาร์มผลิตพืชผลทางการเกษตรถึง 350,000 ไร่

ส่งเสริมในระยะยาว
รัฐบาลยูเออีสนับสนุนการกสิกรรมเพาะปลูกในประเทศ โดยให้เงินช่วยเหลือเจ้าของฟาร์ม หาตลาดขายสินค้า และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อให้สามารถปลูกพืชในฤดูร้อนอุณหภูมิระหว่าง 40-45 องศาเซลเซียสได้ ดังเช่นแปลงปลูกทดลองของข้าวบัสมาสิ 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวเมล็ดสั้นสายพันธุ์ Japonica ชื่อพันธุ์ Asimi และข้าวเมล็ดยาวสายพันธุ์ Indica ชื่อพันธุ์ FL478 ทางตอนเหนือของยูเออี จากความร่วมมือระหว่าง United Arab Emirates University (UAEU) และหน่วยงานพัฒนาชนบท (Rural Development Administration, RDA) ประเทศเกาหลีใต้ โดยการสนับสนุนของกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (MOCCAE) ซึ่งข้าวทั้งสองพันธุ์ดังกล่าวสามารถทนอากาศร้อนและความเค็มของน้ำได้ดี

เกษตรกรรมแนวดิ่งมาแรง
ปัจจุบัน สวนผักในตัวอาคารที่เรียกว่า Vertical Farming ที่สามารถปรับอุณหภูมิให้เหมาะกับการเจริญเติบโต และปลอดสารเคมีกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการเกษตรกรรมในยูเออี เพราะประหยัดทั้งน้ำเเละปุ๋ย ดังเช่นของบริษัท Emirates Airline Catering ที่ร่วมลงทุนมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับบริษัท Crop One ของสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 130,000 ตารางฟุต สามารถให้ผลผลิตได้วันละ 900 ตัน ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งผู้บริโภคในประเทศและต่อสิ่งเเวดล้อม เพราะการปลูกผักสลัด 1 กก. จะใช้น้ำประมาณ 20 ลิตร และสามารถนำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่แทนที่จะละลายไปกับดินดังการปลูกผักแบบดั้งเดิม

ปลูกผัก เลี้ยงปลาแบบอควาโปนิกส์
บริษัท Merlin Agrotunnel ตั้งอยู่ใน Sharjah Research Technology and Innovation Park (SRTI Park) รัฐชาร์จาห์ ทาฟาร์ม ได้ทำระบบอควาโปนิกส์ (Aquaponics) ใช้พื้นที่เพียง 150 ตารางเมตร ปลูกผักแบบไม่ใช้ดินแต่ใช้น้ำจากการเลี้ยงปลาแทน ซึ่งจะหมุนเวียนและไม่มีการปล่อยน้ำเสียไปเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม น้ำที่นำมา
ใช้ได้จากการกลั่นน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะนี้ได้ผักออร์แกนิคประมาณ 1 ตันต่อเดือน สามารถสร้างผลกำไรในการทำฟาร์มเชิงพาณิชย์ตลอดทั้งปี ในทุกสภาพอากาศ สามารถทำได้ในพื้นที่ขนาดเล็ก ให้บริการอาหารท้องถิ่นสดใหม่ที่ไม่มียาฆ่าแมลง

“จากแนวโน้มด้านอาหารในปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แสดงให้เห็นว่าสามารถเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคภายในประเทศได้หลายชนิด อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตสำหรับสินค้าอาหารบางอย่างยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้า จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อลดต้นทุนต่อไป ซึ่งใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้

ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้านอาหารของไทยที่ต้องการทำการค้ากับยูเออี จึงต้องขบคิดเพิ่มมากขึ้นอีกขั้นนอกจากการส่งผลิตภัณฑ์อาหารเพียงอย่างเดียว ควรหาช่องทางเข้าร่วมในนโยบายส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรหรือนวัตกรรมการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายในระยะยาว” นายปณต กล่าวสรุป

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.