ประวัติศาสตร์แห่งไข่เจียว

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นอันรู้กันว่าไข่เจียวไม่ได้มีต้นตำหรับจากจีน ไม่อย่างนั้นเค้าคงทำให้เราแล้ว ไข่เจียวของคนไทยจึงน่าจะดัดแปลงจาก “ออมเล็ต” ของฝรั่งมาอีกทีเพราะมีกรรมวิธีคล้ายกัน
ไข่เจียว เป็นอาหารที่ทำง่าย อร่อย กินได้ทุกวัย แต่ข้อมูลที่มาที่ไปเรื่องไข่เจียวกลับมีอยู่น้อยมาก หาในเว็บไซต์ บันทึกเก่าแก่ที่สุดก็เห็นจะเป็น “จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี” ระบุว่า ไข่เจียวเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ที่จัดเป็นสำรับไว้ในพระราชพิธีสมโภชพระแก้วมรกต และฉลองวันพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 1
ส่วนตัวจึงสันนิษฐานว่า ไข่เจียวน่าจะมีมาก่อนหน้านั้น อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เริ่มติดต่อค้าขายกับฝรั่งเศส (ออมเล็ตเป็นอาหารยอดนิยมของฝรั่งเศส) เมนูออมเล็ตจึงน่าจะเข้ามาพร้อมกับชาวคณะทูตนั่นเอง ประกอบกับสยามก็มีการใช้กระทะเหล็กจากจีนมานานแล้ว การทำเมนูออมเล็ตจึงไม่ใช่เรื่องยาก วัตถุดิบในบ้านเราก็มากมี
เริ่มจากเป็นอาหารชาววัง และเผยแพร่กรรมวิธีการทำ ไข่เจียว สู่สาธารณะชนในภายหลัง อย่างสูตรไข่เจียวชาววังจากหนังสือ ตำรับชาววังสายเยาวภาฯ* นั้น ระบุว่าทำโดย “ตี (ไข่) ให้ฟูก่อนจึงค่อยเจียว เวลาเจียวไม่ควรกลับ ใช้จ่าหลิว(ตะหลิว)แซะข้างกระทะ เพื่อให้ไข่ที่ยังไม่สุกจะได้ไหลออก ทิ้งไว้ให้เหลือง จึงพับสอง ตักใส่จาน…” (ที่มา www.silpa-mag.com เขียนโดย กฤช เหลือลมัย)
ในขณะที่การทำ ออมเล็ต ก็ใช้วิธีคล้ายๆ กันคือ ตีไข่ให้ฟู ใส่นม เนย หรือวัตถุดิบอื่นที่อยากรับประทาน ลงในกระทะ ทอดจนพองสุกพองามแล้วแซะจากข้างกระทะแล้วพับครึ่งยกเสิร์ฟ แต่ที่นิยมกันในโรงแรมมักทำให้เป็นแบบออมเล็ตไข่ม้วน ดูอวบกลมกลึงน่ารับประทาน
ปัจจุบันไข่เจียวทั่วไปที่ทำกันจะไม่มีการพับเหมือนกับตำรับชาววังแล้ว เน้นเรียบง่าย สะดวกสบาย แต่ยังคงรสชาติความอร่อยไว้เหมือนเดิม และ ไข่เจียว น่าจะเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เชื่อว่าทุกคนในโลกสามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาฝีมือประกอบอาหารมากนัก รับประทานคู่กับแกงส้ม ต้มจืด ผัดกะเพรา หรือรับประทานคู่กับน้ำปลา แค่แตะปลายช้อนคลุกเคล้าให้เข้ากันก็อร่อยแล้ว
พอกลับมาถึงเมืองไทย เปิดตู้เย็นหยิบไข่ เอามาทำไข่เจียว รับประทานพร้อมกับข้าวที่แม่ทำไว้ให้ รำพึงรำพันกับตัวเองว่า อาหารบ้านเราอร่อยที่สุดในโลกแล้วล่ะ

* ตำรับชาววังสายเยาวภาฯ เป็นหนังสือของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทำหน้าที่เครื่องต้นถวายรัชกาลที่ 5