กทม. เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์

“ปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.9 กรุงเทพมหานครตระหนักในความสำคัญของการเป็น “สังคมผู้อายุ” โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สูงวัยอย่างมีคุณภาพและสามารถเป็นพลังในการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความพร้อมของกทม. ที่จะกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ภายในงานเปิด มหกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า คณะผู้บริหารได้กำหนดนโยบาย “Bangkok Special Care” คือ การดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ด้วยโครงการต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561-2564) เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อน “สังคมผู้สูงอายุ” ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมีโครงการและกิจกรรมที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น

– ศูนย์สร้างสุขทุกวัย ทั้ง 35 แห่ง ซึ่งยกระดับการให้บริการด้านนันทนาการของศูนย์เยาวชนและศูนย์กีฬาของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นแหล่งสำหรับคนทุกวัย ทั้งเด็กและเยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้นมีกิจกรรมหลากหลายสามารถใช้บริการได้ทั้งวันตามความชอบและถนัด นับตั้งแต่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเปิดมามีผู้สูงอายุให้ความสนใจเข้าไปใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะกิจกรรมที่ศูนย์ฯ ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขและรู้สึกมีคุณค่า ไม่เหงา ไม่เบื่อ โดยเสียค่าสมาชิกเพียง 40 บาท/ปี เท่านั้น
– โรงพยาบาลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยกำลัง ก่อสร้างจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 62 นี้
– คลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ตรวจคัดกรองโรคผู้สูงอายุโดยเฉพาะ 11 รายการ ริเริ่มจากโรงพยาบาลสังกัด กทม. และกำลังขยายไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ให้สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ
– โครงการ “1 ชุมชน 1 ศูนย์ผู้สูงอายุ” ซึ่งได้สร้างต้นแบบไว้ที่บ้านศูนย์วัยศิริเกษมรวมใจราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ มีการดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงถึงบ้าน พร้อมรถบริการส่งถึงโรงพยาบาล กำลังขยายให้ครอบคลุมให้พื้นที่ 6 กลุ่มเขตในปี 63
– “ศูนย์ประสานงานธนาคารสมองของกรุงเทพมหานคร” เป็นศูนย์กลางการประสานเครือข่ายระหว่างหน่วยงานและภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาสร้างประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ซึ่งในแต่ละปีผู้สูงอายุจากทั้ง 50 เขต จะมารวมตัวกันแสดงผลงานภูมิปัญญาเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้สูงอายุคนอื่นๆ ได้ใส่ใจดูแลและพัฒนาตัวเอง เป็นต้น
– โครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกันในกรุงเทพมหานคร(PLC) จากที่ได้พัฒนาชุมชนต้นแบบที่พร้อมดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีจนถึงช่วงปลายของชีวิต ซึ่งได้นำร่องในชุมชนของพื้นที่ดูแลของศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ขณะนี้กำลังขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่บริการของศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 ศูนย์ฯ ต่อไป
” นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมการบริการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น รถทันตกรรมเคลื่อนที่ รถตรวจการได้ยิน รถคลายเครียด เข้าไปบริการผู้สูงอายุถึงชุมชน โดยจะมีการสำรวจพื้นที่ทุกชุมชนว่ามีผู้สูงอายุอยู่ตรงจุดไหนบ้าง รวมถึงผู้สูงอายุติดเตียงที่จะให้สถานพยาลบาลในสังกัด กทม. เข้าไปดูแลอย่างทั่วถึงต่อไป”
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
