การสอบนักธรรมคืออะไร

นักธรรมคือการสอบวัดระดับความรู้ของผู้บวชเรียนหรือพระะสงฆ์ในพุทธศาสนา จัดโดยสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ทุกปีจะมีการสอบ 1 ครั้ง แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเรียกว่าสอบ “นักธรรม” เป็นการสอบของพระสงฆ์ และสามเณร ส่วนที่สองคือการสอบ “ธรรมศึกษา” เป็นการสอบของคฤหัสถ์ หรือ ประชาชนทั่วไปที่สนใจในพระธรรม
ซึ่งการสอบนักธรรมจะแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก
ส่วนธรรมศึกษา ก็แบ่งเป็น ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เช่นกัน แต่จะมีแยกย่อยอีกเป็นระดับประถม มัธยม และ อุดมศึกษา
แล้วข้อสอบ นักธรรม กับ ธรรมศึกษา เหมือนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่เหมือนกัน ต่างกันคือ ข้อสอบนักธรรม หรือข้อสอบของพระยากกว่า เพราะการสอบนักธรรม เป็นการสอบอัตนัยทั้งหมด คล้ายกับให้พระสงฆ์แสดงปาฐกถาธรรม โดยกำหนดหัวข้อมาให้เขียนแสดงธรรมที่ถูกต้อง ดในขณะที่ข้อสอบธรรมศึกษา เป็นการสอบปรนัย ที่มีคำตอบมาให้เลือก และมีความง่ายกว่ามาก
ตัวอย่างข้อสอบจริงของนักธรรม และ ธรรมศึกษา มีความแตกต่างดังต่อไปนี้
ข้อสอบ นักธรรมตรี ปี 2566 “ธรรมที่ทำบุคคลให้งามคือธรรมอะไร ?”
ข้อสอบ ธรรมศึกษา ระดับอุดมศึกษา ปี 2561 ” อกุศลธรรมใด เป็นข้าศึกโดยตรงต่อเมตตา ? ก.โลภะ ข.โทสะ ค.โมหะ ง.ราคะ
เห็นไหมครับความยากต่างกันลิบลับ นักธรรมตรี ต้องรู้ข้อธรรมอย่างถ่องแท้และ รู้จักการแสดงธรรมให้แจ้ง ถึงตอบได้ แต่ธรรมศึกษา สามารถคาดเดาได้จากตัวเลือกคำตอบ
ในฐานะผู้เขียนเองก็เคยผ่านการสอบนักธรรมตรี และสอบผ่านในช่วงที่เคยบวชเป็นพระ ยืนยันอีกเสียงว่าข้อสอบยากมากต้องบวชเรียนและศึกษาจนรู้แจ้ง ถึงจะตอบให้ถูกและตรงประเด็น และไม่ใช่พระทุกองค์จะสอบได้นักธรรม บางองค์สอบตกทุกปีจนเลิกความตั้งใจที่จะสอบก็มี
เวลามีปัญหาเรื่องข้อธรรม ผู้รู้ทางธรรมเขาถึงไล่ให้ลองทำข้อสอบนักธรรม หรือไปเรียนธรรมศึกษา ก่อนค่อยมาแสดงความรู้ทางธรรมให้คนอื่นฟัง
สำหรับพระที่บวชหลายพรรษา ก็จะเข้าสอบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ผ่านทั้งหมด ก็จะขยับไปเรียนเปรียญธรรม ซึ่งเป็นระดับที่ยากขึ้นไปอีก มีทั้งหมด 9 ระดับ หรือ สูงสุดคือ 9 ประโยค ต้องเรียนภาษาบาลี สามารถอ่านเขียนพูดบาลีได้คล่อง คล้ายกับเข้าหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาญี่ปุ่น การสอบเปรียญ ถ้าสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ก็จะได้ชื่อว่าเป็นพระมหา จัดสอบโดยสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง วัดไหนมีพระที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จะจัดงานบุญฉลองกัน ชาวบ้านญาติโยมก็จะดีใจที่วัดใกล้บ้านมีพระมหา ที่สอบได้ถึงระดับนี้
เพราะนับตั้งแต่มีการตั้งทำเนียบพระที่สอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค แห่งกรุงรัตนโกสินท์ มีพระสอบได้เพียง 2,100 กว่ารูป จากจำนวนพระสงฆ์ 284,000 กว่ารูป (จำนวนรวมของมหานิกายและธรรมยุตของปี 2563) หรือน้อยกว่า 1 เปอร์เซนต์ของจำนวนพระสงฆ์ทั้งหมดในประเทศไทย ที่สามารถสอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค