คิดนอกกรอบสู่สินค้าใหม่ STYLE BANGKOK COLLABORATION 2020

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีนโยบายที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับกับแข่งขันบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ ปรับตัว และหาโอกาสให้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดโลกด้วยความมั่นใจ
โครงการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ หรือ STYLE Bangkok Collaboration 2020 สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เดือนมีนาคม 2564 เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยให้มีความทันสมัย เกิดสินค้าใหม่ สร้างความหลากหลายให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและผู้นำเข้า มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ
ในอนาคต กรมฯ ยังมีแผนต่อยอดผลงานความร่วมมือของทั้ง 32 แบรนด์จากโครงการนี้ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการตลาด ไม่เพียงแต่งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ต่อไป

วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ ผู้ก่อตั้ง Asiatides และ Wit’s Collection หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของโครงการ กล่าวว่า สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เป็นดีไซน์ของคนไทยนั้นจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นสินค้าที่คราฟต์ทำด้วยมือ กลุ่มเหล่านี้มีมูลค่าสูง โดยตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็นตกแต่งบ้านช่วง COVID-19 (โควิด-19) มีการเติบโตค่อนข้างมาก
เนื่องจากปกติในต่างประเทศมีการตกแต่ง บ้านตามฤดูกาลอยู่แล้ว แต่ยิ่งต้องมาอยู่ในบ้านเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดความเบื่อและต้องการเปลี่ยนบ้านให้น่าอยู่มากขึ้น ผู้ประกอบการเองก็ควรจะมีการสื่อสารกับกลุ่มผู้ซื้อให้มากยิ่งขึ้นอาจจะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือศึกษาการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์
ด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ จำกัด จากแบรนด์ DEESAWAT เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคย Collab กับหลายแบรนด์ แต่เป็นการทำจากสินค้าที่มีอยู่ แต่สำหรับโครงการนี้คือต้องคิดสินค้าใหม่ ได้ออกจากกรอบเดิม และนำไปสู่ไอเดียในการพัฒนาสินค้า
โดยเป็นการดึงคาแรคเตอร์ของแต่ละแบรนด์มารวมกันและเกิดมุมมองใหม่ในสินค้าใหม่ ซึ่งตอนนี้อาจยังไม่ใช่เทรนด์ แต่ไม่แน่สำหรับในอนาคต และระยะเวลาของโครงการที่สั้นนั้นเป็นข้อดีเพราะกระตุ้นให้นักออกแบบคิดในทันที สรุปไอเดียออกมาให้ได้ ทำให้ได้ฝึกฝนวิธีคิด นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้

ส่วน ณัชชา อนันต์ศฤงคาร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เบ็ทเทอร์ อาทส์ กรุ๊ป จำกัด จาก แบรนด์ 5IVE SIS (ไฟว์ซิส) เล่าถึงการร่วมโครงการว่า เป็นครั้งแรกที่ Collab กับแบรนด์อื่น มีผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์ในการช่วยแนะนำให้เห็นความชัดเจนของตลาดมากขึ้น สอนวิธีคิดที่จะต้องมองให้ออกว่าควร Collab กันอย่างไรให้เกิดความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อให้เกิดสินค้าที่น่าสนใจและแปลกใหม่ ทำให้เกิดไอเดียใหม่แนวคิดใหม่ เป็นประโยชน์มากในการนำมาประยุกต์ต่อยอด
5IVE SIS ทำงานร่วมกับแบรนด์ DIVANA และแบรนด์ PASAYA เน้นการออกแบบแพคเกจจิ้งเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าสปาให้กับ DIVANA ใช้การออกแบบที่มีส่วนประกอบของดีบุกจาก 5IVE SIS และผ้าจาก PASAYA เป็นสินค้าใหม่ 2 แบบคือ ชุดทราเวลเซ็ต (Travel Set) ที่มีผ้าเป็นส่วนแพคเก็จจิ้งหลัก และใช้ดีบุกขึ้นรูปเป็นดอกไม้คือดอกบัวเพื่อแสดงถึงความเป็นเอเชีย ร่วมด้วยดอกกุหลาบในการเจาะตลาดยุโรป
ส่วนสินค้าอีกชิ้นที่ร่วมกันผลิตคือแพคเกจจิ้งสำหรับบรรจุน้ำมันหอมระเหย หรืออโรม่า ที่สามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้ด้วย เพื่อให้คนที่ต้องอยู่บ้านหรือทำงานจากที่บ้านได้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
ฐาณิญา เจนธุระกิจ เจ้าของแบรนด์ THANIYA (ฐาณิญา) เล่าว่า ได้ทำงานร่วมกับอีก 3 แบรนด์คือ VASSANA, LA VIE และ KUN DECORATE ซึ่งสินค้าที่พัฒนาขึ้นมานั้นถือว่าใหม่มากสำหรับแบรนด์เป็นอย่างมาก เพราะ THANIYA ผลิตเซรามิกที่มีลวดลายเฉพาะตัวเป็นหลัก แต่เมื่อได้ Collab กันสินค้าที่ออกมานั้นเปลี่ยนเป็นอีกกลุ่มตลาดทันที ที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เช่น โคมไฟ โต๊ะ ซึ่งเป็นการเปิดแนวคิดใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ในการขยายลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ การผสมผสานแนวคิดที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ทำให้แบรนด์หลุดจากกรอบเดิมๆ ที่เคยทำมา มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มาให้คำแนะนำในวิธีคิด แนะนำรูปแบบการ Collab ให้แตกต่างจากที่เป็นอยู่แต่ยังคงเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์เอาไว้