รู้จักเทรนด์ Cocooning ในเยอรมัน…โอกาสของสินค้าไลฟ์สไตล์ไทย

นายสมเด็จ สุขสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทาง สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ได้รวบรวมข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเยอรมันจากการให้ข้อมูลของ บริษัท Otto ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Manufactum ร้านจำหน่ายสินค้าดีไซน์หรู ดูดี รายใหญ่ของประเทศเยอรมนีได้ดังนี้
แม้ว่าช่วงล็อคดาวน์นั้นร้านค้าจะต้องระงับการให้บริการไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายของสินค้าหมวดบ้าน สวน และอุปกรณ์กีฬา ก็ขยายตัวขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักและในบางกลุ่มสินค้าขยายตัวขึ้น เป็นตัวเลข 3 หลัก โดยตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวเกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม Otto.de ที่เป็นแพลตฟอร์มที่มียอดจำหน่ายใหญ่สูงถึง 3.5 พันล้านยูโร หรือเป็นอันดับ 2 รองจาก Amazon
โดยเฉพาะสินค้าในหมวดบ้าน สวน และอุปกรณ์กีฬา แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคได้ใช้เงินในการตกแต่งบ้านและสวนมากขึ้น และใช้เงินในการสร้างความสำราญในที่อยู่อาศัยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงที่เชื้อไวรัสเริ่มระบาด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้จัดจำหน่ายสินค้า อย่าง Manufactum หรือ Otto เท่านั้น ที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าว แต่ผู้จำหน่ายสินค้ารายอื่น ๆ ก็สามารถสัมผัสได้ถึงเทรนด์ที่ผู้บริโภคพยายามทำที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันใน Google Trend ในช่วงล็อคดาวน์ก็พบว่า คำที่ใช้ในการค้นหาในเดือนมีนาคม เช่น เครื่องเรือน หรือของใช้ในสวน ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และมีเพิ่มมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน โดยมีการใช้คำในการหาสินค้า ผ่านอีเบย์ (Ebay) อย่างคำว่า “เตียงนอนใหม่” ขยายตัวมากขึ้น ร้อยละ 345 แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคชาวเยอรมันด้านการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ กล่าวได้ว่า เทรนด์ Cocooning จะเป็นหนึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์ของประเทศไทย ในกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์จัดสวนดีไซน์ใหม่ๆ ที่สนใจเจาะตลาดผู้บริโภคเยอรมัน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เตรียมการจัดงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2021 ในวันที่ 10 – 14 มีนาคม 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ตลอดจนผู้ประกอบการในกลุ่ม Niche Market ได้แก่ สินค้าผู้สูงอายุ (60 +) สินค้าแม่และเด็ก (Mom & Kids) สินค้าสัตว์เลี้ยง (PET) ได้พบปะเจรจาการค้ากับผู้ซื้อ / ผู้นำเข้าทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 02 507 8363 และ 8364